คนไข้หลายๆคนอาจเข้าใจผิด เกี่ยวกับ
"การรักษารากฟัน และ การใส่รากฟันเทียม"
อาจเป็นเพราะชื่อมันคล้ายๆกัน เลยทำให้สับสน
จริงๆ สองงานนี้มีส่วนคล้ายกัน อยู่อย่างนึง คือ
"ทำเพื่อให้มีฟันใช้งานต่อไปได้"
แต่กระบวนการรักษาต่างกันโดยสิ้นเชิง
หมออยากอธิบาย พร้อมรูปประกอบ ให้ฟังกันนะคะ
ในรูปเป็นรูปเอ๊กซเรย์
ฟันด้านซ้ายสุด คือ ฟันปกติ ทุกคนจะเห็นส่วนสีขาวที่เป็นเนื้อฟัน และส่วนดำๆตรงกลาง ซึ่งเป็นส่วนโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะมีเส้นเลือดเส้นประสาทบรรจุอยู่
ฟันซี่ถัดมา ก็ยังเป็นรูปร่างฟันอยู่ เพียงแต่มีวัสดุสีขาวๆ เป็นเส้นๆอยู่ตรงกลางฟัน ตามแนวรากฟัน
ฟันซี่นี้คือฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน มาแล้ว
จะเห็นว่า การรักษารากฟัน ตัวฟันยังอยู่ รากฟันยังอยู่ที่เดิม เพียงแต่เราเอาเชื้อโรคในโพรงประสาทฟันที่ติดเชื้อออก และอุดทดแทนลงไป ด้วยวัสดุที่เหมาะสม ร่วมกับทำครอบฟันใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ฟันกลับมาแข็งแรงใช้งานได้เหมือนเดิม
และ_ฟันซี่ขวาสุด คือ ฟันที่ผ่านการใส่รากฟันเทียมมา
จะเห็นว่า มันไม่ใช่รูปร่างรากฟันธรรมชาติ แต่มันคือการใส่รากฟันเทียม ลงไปในกระดูก เลียนแบบรากฟันจริง ,ต่อด้วยใส่ตัวฟันและครอบฟัน ลงไปบนรากฟันเทียมอีกที เพื่อให้ใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น จำง่ายๆคือ การรักษารากฟัน เรารักษาฟันเดิม-รากเดิมเก็บไว้
แต่การใส่รากเทียม จะต้องถอนฟันเดิมออกก่อน แล้วถึงใส่รากเทียมทดแทนลงไป
จริงๆการใส่รากฟันเทียมก็หมายถึงการใส่ฟันปลอมติดแน่น หรือฟันปลอมถาวรชนิดนึงนั่นเองค่ะ
อ้าว แล้วคราวนี้ หากฟันผุทะลุโพรงประสาท
เราจะไม่ถอนฟันแล้วเลือกการรักษารากฟัน หรือ ควรถอนฟันแล้วใส่รากเทียมดีหล่ะ ???
คำตอบคือ แล้วแต่สภาพฟันซี่นั้นๆค่ะ ว่าควรไปทางไหนมากกว่ากัน
ทันตแพทย์จะต้องเห็นฟันซี่นั้น และประเมินหลายๆองค์ประกอบร่วมกันค่ะ
เช่น หากฟันซี่นั้นพอมีเนื้อฟันเหลือเยอะ การรักษารากฟัน มีโครงฟันเดิม รากเดิม เก็บไว้ได้ จะดีกว่าค่ะ
แต่ตรงกันข้าม หากฟันผุจนเหลือแต่ตอ ไม่มีตัวฟันเหลือแล้ว การถอนแล้วใส่รากเทียมจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เป็นต้น
หมายเหตุ:
บทความนี้เขียนโดยหมอซิน
แต่ในรูป เคสรักษารากฟันอันสวยงาม ฝีมือหมออัลเบริต และเคสใส่รากฟันเทียมอันสวยงาม ฝีมือหมออุ๋มอิ๋มนะคะ
จริงๆคลินิกเรามีหมอเดียวอีกท่านที่ทำทั้งงานรักษารากฟันและใส่รากฟันเทียมนะคะ